Wednesday, March 21, 2012

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดตัวเว็บไซต์สนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทยในจีน

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่งเปิดตัวโครงการพัฒนาเว็บไซต์ “www.thaifruits-online.com” รูปแบบ 3 ภาษา ไทย จีน อังกฤษเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูลผลไม้ไทยรับกระแสผลไม้ไทยตีตลาดจีนสูงขึ้นต่อเนื่องหวังช่วยผู้ประกอบการและผู้นำเข้าขยายตลาดผลไม้ไทยมากขึ้นพร้อมสร้างโอกาสธุรกิจเจาะตลาดประชากรจีนกว่า 1.3 พันล้านคน สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่งร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่งสถานกงสุลใหญ่ในจีนและสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศในจีนเปิดตัวโครงการพัฒนาเว็บไซต์ส่งเสริมการค้าผลไม้ไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ชื่อเว็บไซต์ “www.thaifruitsonline.com” โดยจัดทำเป็น ๓ ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ�

จุดประสงค์เพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ไทยในรูปแบบการค้าที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ค้า ผู้นำเข้าผลไม้ไทยในจีน เช่น ชนิดผลไม้ การเลือก การบริโภค ฤดูกาล คุณค่าทางโภชนาการเป็นต้น อันเป็นการเพิ่มอุปสงค์และขยายตลาดผลไม้ไทยในจีนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจการส่งออกผลไม้ไทยในตลาดจีนโดยให้ข้อมูลด้านการส่งออกแก่เกษตรกรและผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เช่น ขั้นตอน กฎระเบียบ ข้อกำหนดในการส่งออกเส้นทางและต้นทุนการขนส่งรายชื่อผู้ส่งออกของไทยรายชื่อผู้นำเข้าของจีน และราคาผลไม้ไทยในตลาดจีนเป็นต้น อีกทั้งช่วยส่งเสริมการติดต่อค้าขายโดยตรงระหว่างเกษตรกร สถาบันเกษตรไทยและผู้ประกอบการค้านำเข้าผลไม้ไทยในจีนผ่านเว็บไซต์ที่มีศูนย์กลางช่วยเหลือในการแปลภาษาไทย จีน อังกฤษ อันเป็นการขยายช่องทางการสร้างธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการส่งออกผลไม้ไทยในระยะยาว

นอกเหนือจากการจัดทำเว็บไซต์และพัฒนาฐานข้อมูลผลไม้ไทยแล้วยังมีแผนการจัดทำเอกสารและสื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซต์การจัดตั้ง Call Center ที่กรุงเทพฯ กรุงปักกิ่งและนครกวางโจว การจัดงานเปิดตัวประชาสัมพันธ์เว็บ และการจัด Mini Exhibition ในงานแสดงสินค้าในเมืองมณฑลต่างๆ ของจีนอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ด้วยประชากรกว่า 1,340 ล้านคน มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงเฉลี่ยร้อยละ 8-10 อย่างต่อเนื่อง ตลาดจีนจึงมีศักยภาพและมีความมั่นคงในการส่งออกสินค้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าของประเทศไทยโดยในปีพ.ศ. 2554 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนมูลค่ารวม 707,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2553 ทั้งปีร้อยละ 27 มีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นสินค้าหลักในการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 192,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2553 ทั้งปีร้อยละ 41 สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญประกอบด้วยยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ข้าวคุณภาพดี ผลไม้สดและแปรรูป และสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น โดยเฉพาะผลไม้ไทยปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากสามารถส่งออกไปจีนได้ถึง 23 ชนิด เนื่องจากมีชื่อเป็นมงคลมีรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสีสันสดใส มีความแปลก และมีช่องทางการนำเข้าทั้งทางบก เรือ และอากาศ นอกจากนี้ราคาของผลไม้ไทยยังสามารถแข่งขันกับผลไม้ชาติอื่นได้เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน-จีน และไทย-จีน (FTA) �

ด้านแนวโน้มการส่งออกผลไม้ไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีโดยในปีพ.ศ.2554 เพียง 10 เดือนแรก (มกราคม – ตุลาคม) มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีมูลค่าสูงถึง 12,007 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2553 ทั้งปีร้อยละ 119) นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่าจากศักยภาพและโอกาสในการขยายตัวของตลาดผลไม้ไทยในจีนจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาเว็บไซต์ส่งเสริมการค้าผลไม้ไทยในสาธารณประชาชนจีนขึ้นโดยเว็บไซต์ www.thaifruitsonline.com เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ซื้อผลไม้ไทย เช่น กลุ่มผู้ซื้อ ผู้นำเข้าผลไม้ในประเทศจีน กลุ่มห้างค้าปลีกรายใหญ่ (Modern Trade) กลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่สมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย รวมถึงกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ผู้ขายผลไม้ไทยบุคคลทั่วไปที่สนใจธุรกิจส่งออกนำเข้าผลไม้ไทยสู่ประเทศจีน ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการสร้างภาพลักษณ์ผลไม้ไทยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รู้จักอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยส่งเสริมความต้องการผลไม้ไทยในตลาดจีนขยายตัวมากขึ้น สร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในการผลิตและส่งออกผลไม้ไทยสู่ประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งสินค้ารวมถึงสามารถผลิตและส่งออกผลไม้ไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามข้อกำหนดของประเทศจีนซึ่งช่วยลดความสูญเสียจากการถูกกักกันส่งกลับหรือทำลาย ณ จุดนำเข้า �

 See More..

บทความที่ได้รับความนิยม